วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

ทำอย่างไร..เมื่อลูกชายกลายเป็นหญิง

 ปัจจุบันสังคมไทยเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับการแสดงออกของเพศที่สาม ทว่าในบางครอบครัวพ่อแม่หรือผู้ปกครองยังเปิดใจยอมรับไม่ได้ ส่งผลให้เด็กเกิดความเครียดในจิตใจ นั่นเพราะกลัวทำให้พ่อแม่เสียใจ จึงต้องคอยหลบ ๆ ซ่อน ๆ ในการเผยความเป็นหญิงออกมา

             อาจารย์รณภูมิ สามัคคีคารมย์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า กะเทยไม่ใช่ปัญหาสังคม แต่สังคมไม่เข้าใจจนทำให้เป็นปัญหาเอง จากผลการวิจัยพบว่า กะเทย เป็นเพศที่ได้รับความรุนแรงมากที่สุดถึง 34.8% เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบอีกว่า ปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นมากที่สุดในครอบครัวถึง 90% โดยกะเทยที่เสี่ยงต่อความรุนแรงมักเป็นกะเทยที่ยังไม่แปลงเพศ มีรูปร่างที่เป็นชาย ไว้ผมสั้น แต่แต่งหน้า ทาเล็บ ทาปาก ซึ่งกะเทยที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ จะถูกไม่ให้เกียรติและถูกเอาเปรียบมากกว่า เกย์และกะเทยที่แปลงเพศเหมือนผู้หญิงแล้ว

            จากผลวิจัยดังกล่าว ทำให้เว็บไซต์เพื่อนกะเทยไทย ออกแนวทางปฏิบัติการอยู่ร่วมกับกะเทยออกมา หวังบรรเทาความรุนแรงในครอบครัว และช่วยให้ครอบครัวที่มีบุตรหลานเป็นกะเทย สามารถอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวได้อย่างมีความสุขและเข้าใจกันและกัน

            ต่อคำถามที่ว่า หากมีบุตรหลานเป็นกะเทย ควรปฏิบัติตัวอย่างไร อาจารย์รณภูมิ กล่าวว่า ถ้าเลือกได้ ส่วนใหญ่คงไม่มีใครอยากให้ลูกเป็นกะเทย คงอยากให้เป็นผู้ชายไปเลยมากกว่า แต่เมื่อไม่สามารถทำได้ ก็ต้องมีการวางแนวทางปฏิบัติซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างเขียนแนวทางนี้ ดังนั้นแนวทางนี้จึงเป็นเสมือนคู่มือที่ให้คำแนะนำว่าทำอย่างไรที่จะอยู่ร่วมกับบุตรหลานเพศที่สามได้อย่างไร

            จากผลการสำรวจพบว่า ครอบครัวที่รับไม่ได้จากปัญหาลูกชายกลายเป็นหญิงมีมากกว่ารับได้ ซึ่งกะเทยส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาด้วยการหนีออกจากบ้าน แล้วไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ตามเมืองใหญ่ ๆ เช่น พัทยา ประกอบอาชีพนักร้อง นักแสดง หรือกระทั่งขายบริการ เพื่อเลี้ยงชีพ

             แต่หากทำตามคู่มือแล้วยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ลำดับต่อไปต้องใช้คนกลางที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เข้ามาให้คำปรึกษา แนะนำวิธีการเปิดใจยอมรับ ซึ่งอาจารย์รณภูมิกำลังประสานงานกับโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อหาแนวทางป้องกัน

            ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติการอยู่ร่วมกับกะเทยเป็นก้าวแรกในการลดแรงกระตุ้นความรุนแรงของเพศทางเลือก การเปิดใจยอมรับและอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ จึงเป็นการปฏิบัติที่สำคัญในการลดและแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามแนวทางปฏิบัติดังกล่าวได้เผยแพร่บางส่วนแล้วในเว็บไซต์เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย และกำลังประสานงานผ่านกระทรวงสาธารณสุขกับโรงพยาบาลอื่น ๆ เพื่อกระจายข่าวสารให้ทั่วถึง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น