วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

5 วิธีปฏิบัติของพ่อแม่ที่สร้างความเจ็บปวดให้ลูก

5 วิธีปฏิบัติของพ่อแม่ที่สร้างความเจ็บปวดให้ลูก



ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสุขอย่างหนึ่งของคนเป็นพ่อแม่ คือวันที่ได้เห็นลูกมีชีวิตอย่างมีความสุข และเติบโตเป็นที่รักของคนอื่นๆ แต่บางครั้งคุณพ่อคุณแม่เองอาจใช้ความรัก หรือวิธีการสอนที่อาจสร้างความเจ็บปวดให้ลูกโดยไม่รู้ตัว ซึ่งความเจ็บปวดเหล่านี้อาจส่งผลต่อการแสดงออกทางด้านพฤติกรรม และอารมณ์ในด้านลบตามมาได้

          ความน่าเป็นห่วงในข้างต้น ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาการเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยจึงได้สรุปวิธีปฏิบัติของพ่อแม่ที่อาจสร้างความเจ็บปวดให้ลูกออกเป็น 5 เรื่องหลักๆ เพื่อให้พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยง ดังต่อไปนี้

การเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น

          การเปรียบเทียบ คือ การสร้างความรู้สึกด้อยให้เกิดขึ้นในชีวิตของเด็ก ซึ่งเป็นอันตรายต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กอย่างมาก ถึงแม้จะช่วยให้เด็กพัฒนา และพยายามปรับปรุงตนเองเพื่อเอาชนะคำสบประมาทของพ่อแม่ แต่ก็อาจทำให้เด็กรู้สึกเจ็บปวด ยอมแพ้ เลิกพยายามต่อ หรือเกิดความคิดหาทางกลั่นแกล้งทำลายคู่แข่งคนอื่นๆ ได้ ทางที่ดี ไม่ควรใช้คำพูดทำลายความรู้สึกของลูกด้วยการเปรียบเทียบ เพราะเด็กแต่ละคนมีอุปนิสัย ตลอดจนความสามารถ และความถนัดที่แตกต่างกัน ควรชื่นชมในสิ่งที่เขาเป็น และทำได้ดีมากกว่าไปเปรียบเทียบตัวเขากับเด็กคนอื่น

ต่อว่าลูกต่อหน้าคนอื่น

          การต่อว่าลูกต่อหน้าคนอื่น ถือเป็นการไม่ให้เกียรติ และทำร้ายความรู้สึกของลูกอย่างมาก ทำให้ลูกรู้สึกอาย เสียหน้า อยากหนี และอยากตอบโต้ ทางที่ดี เวลาที่ลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรพูดกับลูกอย่างเป็นมิตร ไม่ตะคอก หรือโวยวายต่อหน้าคนอื่น หรือในที่สาธารณะ เช่น ต่อหน้าเพื่อน หรือคุณครู

บอกว่า “ไม่รัก” แล้ว

          ความรักไม่ควรนำมาใช้เป็นข้อแม้ คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้เด็กๆ รู้ว่าคุณรักพวกเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข และทำให้ลูกรู้ว่าคุณตำหนิที่ตัวพฤติกรรม ไม่ใช่ตำหนิที่ตัวเขา ซึ่งการพูดว่าไม่รักบ่อยๆ เด็กๆ อาจไม่ทำตามสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ หรือคุณครูบอก เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่เขาจะทำในเมื่อคุณพ่อคุณแม่เคยบอกว่าไม่รักเขาแล้ว

          “การที่ลูกถูกพ่อแม่บอกว่าไม่รัก เป็นการบั่นทอนความมั่นคงทางอารมณ์ และจิตใจของลูกอย่างมาก พ่อแม่บางคนบอกว่าไม่รักก็เพื่อให้ลูกเชื่อฟัง แต่หารู้ไม่ว่า วิธีนี้ทำให้ลูกรู้สึกเจ็บปวดมากที่สุด เพราะการที่พ่อแม่บอกไม่รักเขาแล้ว ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กมาก ซึ่งหลายท่านบอกว่า เด็กไม่คิดมากหรอก แต่ลองคิดดูว่า ถ้าลูกพูดแบบนี้กับเราบ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร มีผู้ปกครองบางท่านถึงกับคิดมาก และร้องไห้กันเลยทีเดียว เห็นไหมว่า เราก็คิดมากกับคำพูดของลูกเหมือนกัน” ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยท่านนี้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

การเพิกเฉย ไม่สนใจ

          การไม่สนใจ แบ่งออกเป็น การไม่สนใจเชิงบวก กับการไม่สนใจเชิงลบ ซึ่งการไม่สนใจทางบวกนั้น ถ้าพฤติกรรมของลูก เช่น การร้องชักดิ้นชักงอ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเด็ก พ่อแม่ และสภาพแวดล้อม การเดินหนี หรือไม่สนใจ ถือเป็นการไม่สนใจเชิงบวก เป็นการฝึกวินัยเด็กให้รู้จักเรียนรู้ว่า วิธีนี้ไม่สามารถเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ได้ เด็กก็จะไม่ทำอีก แต่ถ้าลูกวิ่งเข้ามาเล่น หรือเอาภาพวาดมาอวด แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากพ่อแม่ ถือเป็นการทำร้ายจิตใจลูกมาก

ข่มขู่ หรือทำให้กลัว

         ความกลัวเป็นธรรมชาติของเด็กที่เกิดขึ้นได้ปกติ เพราะเด็กยังไม่สามารถเข้าใจในเรื่องต่างๆ ได้ดีเกือบทั้งหมด เนื่องจากการรับรู้ หรือเรียนรู้ครั้งแรกของเด็กอาจทำให้เกิดความไม่กล้า หรือเกิดความกลัวขึ้นได้ แต่การเข้าไปตอกย้ำความกลัวด้วยวิธีการขู่ หรือหลอกให้กลัวเพื่อไม่ให้ทำในสิ่งต่างๆ เช่น “ออกไปนอกบ้าน ระวังตำรวจจับนะ” หรือ “ถ้าซนมากๆ เดี๋ยวแม่จะให้หมอมาฉีดยาเลยนะ”

          ซึ่งการขู่ลูกในลักษณะเช่นนี้ หากเกิดขึ้นบ่อยๆ เด็กจะค่อยๆ ซึมซับความกลัวจนกลายเป็นกลัวฝังใจได้ ซึ่งความกลัวเหล่านี้เอง เป็นสาเหตุให้เด็กเก็บไปฝัน และนอนผวาในเวลากลางคืน ถือเป็นการบั่นทอนสุขภาพของเด็กอย่างมาก ทำให้เด็กกลายเป็นคนขี้กลัว ทางที่ดี พ่อแม่ควรสอนด้วยหลักของเหตุและผลแทนการข่มขู่หรือหลอกให้กลัว

          ท้ายนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัย สะกิดใจถึงคุณพ่อคุณแม่ทุกๆ ท่านว่า เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องใหญ่ที่พ่อแม่ควรใส่ใจ โดยเฉพาะวิธีการปฏิบัติของพ่อแม่ที่อาจทำให้ลูกรู้สึกเจ็บปวดได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เมื่อลูกรู้สึกไม่ดี หรือรู้สึกแย่ วันหนึ่งลูกจะค่อยๆ ถอยห่างออกจากพ่อแม่ และบ้านก็เป็นได้


ที่มาข้อมูล  :  ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น