โรคตาแดง เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาขาวที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อ adenovirus แล้วเกิดการติดเชื้อที่เยื่อตาขาวเรียกว่า Epidemic keratoconjunctivitis (EKC)
เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย รวดเร็ว และทำให้เกิดอาการขึ้นอย่างเฉียบพลัน
พบมีการระบาดเป็นช่วงๆ มักเป็นในฤดูฝน
การติดต่อของโรคเกิดโดยตรงจากการสัมผัส การใช้ของร่วมกัน การไอ
หรือการหายใจรดกัน และมักเกิดการติดต่อกันในที่ชุมชน ในโรงเรียน
ที่ทำงาน สระว่ายน้ำ รวมทั้งห้างสรรพสินค้า
โดยหลังจากได้รับเชื้อแล้วจะทำให้เกิดอาการภายใน 1-2 วัน
และเมื่อเกิดเป็นขึ้นมาแล้วจะมีโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นนานถึง 2 สัปดาห์
ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสนี้จะมีอาการตาแดงอย่างรวดเร็ว เคืองตา เจ็บตา
น้ำตาไหล ไม่มีขี้ตา
นอกจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาจึงจะมีขี้ตา
บางรายมีต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโตและเจ็บ ผู้ที่เป็นมักเป็นกับตาข้างหนึ่งก่อน
ต่อมาอีก 2-3 วัน
ก็จะลุกลามไปกับตาข้างหนึ่งระยะเวลาของโรคนี้จะเป็นนานประมาณ 10-14 วัน
ในบางรายเมื่อตาแดงดีขึ้น อาจเกิดโรคแทรกซ้อนคือตาดำอักเสบ
โดยผู้ป่วยสังเกตว่ามีอาการมัวลงทั้งๆ ที่อาการตาแดงดีขึ้นมากแล้ว
มักเกิดขึ้นในวันที่ 7-10 หลังเริ่มเป็นตาแดง
ตาดำอักเสบนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเป็นอยู่นานหลายๆ
เดือนกว่าจะหาย
หากมีอาการต่อไปนี้ให้รีบพบแพทย์
• ตามัวลง
• ปวดตามากขึ้น
• กรอกตาแล้วปวด
• ไข้
• ให้ยาไปแล้ว 48 ชั่วโมงไม่ดีขึ้น
• น้ำตายังไหลอยู่แม้ว่าจะได้ยาครบแล้ว
• แพ้แสงอย่างมาก
การป้องกัน
โรคตาแดงเป็นโรคที่ไม่มีการรักษาโดยตรง มีการระบาดอย่างรวดเร็ว
และติอต่อกันง่ายมาก การป้องกันระมัดระวังไม่ให้ติดโรคนี้
ทำได้โดยการแยกผู้ป่วย เช่น หยุดงาน หยุดเรียน ไม่พูด ไอ หรือจามรอผู้อื่น
ไม่ใช้สิ่งของปะปนกับผู้อื่น
ไม่ใช้มือป้ายตาและขยี้ตาเพราะเชื้อโรคจะติดไปยังสิ่งของที่ผู้ป่วยหยิบจับ
ล้างมือบ่อยๆ ให้สะอาด ห้ามใช้ยาหยอดตาร่วมกัน
ในผู้ที่เป็นตาแดงในตาข้างหนึ่ง ส่วนอีกตาข้างหนึ่งไม่มีอาการ
ให้หยอดตาเฉพาะตาข้างหนึ่งเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องหยอดตาข้างปกติด้วย
เพราะจะเป็นการนำเชื้อจากตาข้างที่เป็นไปยังตาข้างปกติ
การรักษา
เนื่องจากโรคตาแดงเกิดจากเชื้อไวรัส
จึงยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะยาต้านเชื้อไวรัสต่างๆ
ที่มีขณะนี้ใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคนี้
ส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะหยอดตา และป้ายตา
เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งมักจะเกิดตามมา
ถ้ามีอาการเจ็บตาให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ถ้ามีอาการเคืองตา
แพทย์จะแนะนำให้ใส่แว่นกันแดด ไม่ควรปิดตา และไม่จำเป็นต้องล้างตา
นอกจากนี้ผู้ป่วยควรได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ และพักการใช้สายตา
ระยะเวลาการรักษานานประมาณ 2 สัปดาห์
ลักษณะของโรคตาแดงที่แพทย์ต้องดูแลเป็นพิเศษมีอยู่ 3
ลักษณะด้วยกัน คือ ประการแรก
ถ้าเยื่อตาขาวอักเสบมากเสียจนผิวของเยื่อตาขาวลอกออก
บางครั้งเยื่อตาขาวของเปลือกตากับเยื่อตาขาวของลูกตาอาจจะกลายเป็นแผลเป็น
ติดกันได้ ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกวิธี
เพราะเนื้อมาประกบกันโดยที่ไม่มีหนังอยู่ตรงกลาง จึงอาจจะติดกันจนแยกไม่ออก
ทำให้มีการระคายเคืองเรื้อรังได้
ประการต่อมา ในส่วนของกระจกตาดำ
เพราะบางเชื้อเข้ากระจกตาดำทำให้คนไข้มองอะไรไม่ค่อยชัด สู้แสงไม่ได้
ทำงานลำบาก สุดท้าย คือ เรื่องของเปลือกตาที่บวมมาก
มีน้ำตาไหลออกมาตลอดจนคนไข้กังวลมาก จึงต้องมีการดูอาการเป็นพิเศษ
เพื่อรอให้หายไปเอง ด้วยการพูดคุยกับคนไข้ อธิบาย ให้เข้าใจให้สบายใจ
จากนั้นจะให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านเมื่ออาการทุเลาลง
อาการตาแดงนอกจากจะเกิดจากโรคตาแดง ซึ่งมีการระบาดกันอยู่บ่อยๆ
แล้วยังอาจพบได้ในโรคตาอื่นๆ อีกหลายโรค
และบางโรคเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง คือทำให้มีการสูญเสียสายตาได้ เช่น
ต้อหิน ม่านตาอักเสบ ตาดำอักเสบ ดังนั้นเมื่อเกิดมีอาการตาแดงขึ้น
ควรได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์ ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง
ข้อปฏิบัติที่สำคัญสำหรับผู้ที่กำลังเป็นโรคตาแดง
คือ การป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายจากตนเองไปสู่ผู้อื่น
โดยผู้ที่มีอาการควรหยุดพักเรียนหรือพักงานอย่างน้อย 1 สัปดาห์
ไม่ควรอยู่ในที่ชุมชน รวมทั้งใส่แว่นตากันแดด
เป็นการป้องกันฝุ่นละอองที่จะทำให้เกิดอาการระคายเคือง
สำหรับการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยนั้น
อย่ากลัวหรือกังวลในการติดโรคมากจนเกินไป เพราะเชื้อมีระยะเวลาในการแพร่
เพียงแต่ระมัดระวังไม่จับ สัมผัส หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น